ส่วนประกอบของกีต้าร์โปร่ง ที่ทำให้กีต้าร์แต่ละตัวมีเอกลักษณ์ต่างกัน
เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับกีตาร์โปร่งอยู่บ้างไม่มากก็น้อย บางคนเล่นเป็น แต่บางคนถึงเล่นไม่เป็นก็รู้ว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้เรียกว่าอะไร เหตุผลอย่างหนึ่งคงเพราะเครื่องดนตรีชนิดนี้อยู่คู่โลกใบนี้มานานเป็นร้อย ๆ ปี และอยู่ใกล้ตัวเรามานานทั้งในชีวิตประจำวันของใครหลายๆคน หรือแม้แต่ในบทเพลงมากมายที่พวกเราต่างรู้จักกันดี
แต่พวกเรารู้จักมันดีแค่ไหน เรารู้อะไรเกี่ยวกับมันบ้าง เพราะกีตาร์โปร่งมีมากมายเป็นร้อยเป็นพันรุ่นในตลาด เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันมีลักษณะเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันยังไง และเราเหมาะกับกีตาร์โปร่งแบบไหน?
วันนี้เราลองมาทำความรู้จักกับกีตาร์โปร่งให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจเลือกกีตาร์โปร่งที่เหมาะกับเราได้ง่ายขึ้นด้วย
ทำไมดีดกีตาร์โปร่งแล้วมีเสียง?
เคยสงสัยกันบ้างมั้ย ว่าทำไมกีตาร์โปร่งจึงดีดแล้วมีเสียง ในขณะที่เราทำแบบเดียวกันกับกีตาร์ไฟฟ้าแล้วแทบไม่ได้ยินอะไรมากไปกว่าเสียงลวดแหลมๆ ไม่มีความไพเราะอะไรเลย คำตอบคือ เมื่อเราดีด (หรือเกา) กีตาร์โปร่ง แรงสั่นสะเทือนของสายจะถูกส่งไปยังแผ่นไม้หน้า (top) ทำให้ไม้หน้ามีการสั่นสะเทือน แรงสั่นสะเทือนของไม้หน้านี้ก็จะไป “เขย่า” อากาศที่อยู่รอบ ๆตัวมันโดยเฉพาะด้านหน้าให้กลายเป็นเสียงกีตาร์ที่พวกเรารู้จัก
ส่วนประกอบของกีตาร์โปร่ง
ส่วนประกอบหลัก ๆ ที่เราควรรู้จักคร่าวๆ เพื่อให้ง่ายต่อการดูสเปคก็ได้แก่
- ไม้หน้า (top/soundboard) แผ่นไม้ด้านหน้าสุด (ถ้าวางกีตาร์ในแนวนอน ไม้ส่วนนี้ก็จะอยู่ด้านบนสุด จึงเรียกว่า top wood) ไม้ส่วนนี้คือส่วนสำคัญที่สุดในการส่งเสียงของกีตาร์โปร่ง เปรียบเสมือน “ดอกลำโพง” ของกีตาร์โปร่งนั่นเอง บางครั้งเราก็เรียกไม้ท็อปนี้ว่า soundboard ซึ่งก็เนื่องมาจากหน้าที่ในการส่งเสียงของมันนั่นเอง ทั้งนี้ ไม้แต่ละชนิดที่นำมาใช้ทำทั้งสองส่วนล้วนมีผลต่อเสียง เนื่องจากไม้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสะท้อนเสียงก็ย่อมแตกต่างกันตามไปด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่ควรทราบอย่างยิ่งเกี่ยวกับไม้ท็อปซึ่งหลายคนมักมองข้ามหรือไม่ทราบ คือ การวางโครง bracing ใต้แผ่นท็อปซึ่งมีผลโดยตรงต่อเสียง ทั้งนี้จะขอกล่าวถึงในหัวข้อ Bracing่
- ไม้หลัง (back) และไม้ข้าง (sides) ไม้หลังคือไม้ชิ้นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ top ส่วนไม้ข้างก็คือส่วนด้านข้างของกีตาร์โปร่งที่ถูกดัดให้เป็นส่วนโค้งของกีตาร์ ไม้ทั้งสองส่วนนี้ถูกจับมาประกบเข้าคู่กันให้เป็นเสมือน “กล่องเปล่า” ที่ทำหน้าที่สะท้อนเสียงก้องกังวาน (resonance) ออกมาด้านหน้าของกีตาร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้กีตาร์โปร่งแตกต่างจากกีตาร์ไฟฟ้า และเช่นเดียวกับไม้ท็อป คือไม้แต่ละชนิดที่นำมาทำทั้งสองส่วนนี้ของกีตาร์โปร่งจะให้คาแรคเตอร์เสียงที่แตกต่างกัน
- คอ (neck) คือไม้ชิ้นยาวที่ยื่นจากส่วนลำตัวของกีตาร์ไปถึงส่วนหัว (headstock) แม้ไม้ส่วนนี้จะไม่ใช่ส่วนที่ใช้สะท้อนเสียงหรือส่งเสียงโดยตรง แต่ชนิดไม้ที่ใช้ทำคอกีตาร์โปร่งก็มีผลต่อเสียงโดยรวมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้สิ่งสำคัญเกี่ยวกับคอกีตาร์ ก็คือ รูปทรงของคอกีตาร์ (neck profile) เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสบายหรือไม่ก็อึดอัดไปเลย
- เฟรท (frets) และฟิงเกอร์บอร์ด (fingerboard/fretboard) เฟรท ก็คือโลหะชิ้นเล็กๆ ขนาดใกล้เคียงกับก้านไม้ขีดไฟ โดยส่วนใหญ่จะมีจำนวน 20 อัน ถูกยึดติดไว้บนแผ่นไม้สี่เหลี่ยมสีดำยาวๆ ที่เรียกว่าฟิงเกอร์บอร์ด หน้าที่ของเฟรทก็มีไว้เพื่อแบ่งโน้ตให้แยกของใครของมัน ซึ่งวัสดุ รูปทรง ขนาด ความโค้ง การเก็บความเรียบร้อยตรงปลายเฟรทก็นับว่ามีผลต่อการเล่นและเนื้อเสียง ในส่วนของไม้ฟิงเกอร์บอร์ดนั้น ชนิดไม้ที่ใช้และความโค้งของฟิงเกอร์บอร์ด (fingerboard radius) ก็มีผลต่อเสียงและการเล่นด้วยเช่นกัน
- นัท (nut) คือชิ้นส่วนสี่เหลี่ยมอันเล็กๆ บางๆ ที่วางไว้ตรงปลายสุดของฟิงเกอร์บอร์ดฝั่งหัวกีตาร์ มีหน้าที่รองรับมุมเลี้ยวและแรงกดของสายกีตาร์ที่พาดผ่านจากฟิงเกอร์บอร์ดไปที่หัวกีตาร์ นัทกีตาร์มีหลายวัสดุให้เลือกทั้งวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ซึ่งก็เช่นกันกับแทบจะทุกส่วนของกีตาร์ คือ วัสดุที่นำมาใช้ทำนัทจะมีผลต่อเสียงด้วย ปัจจุบันวัสดุที่นิยมใช้ผลิตนัทมากที่สุดเห็นจะเป็นวัสดุสังเคราะห์จำพวกกราไฟท์กับวัสดุเทียมกระดูก
- ลูกบิด (machine heads/tuners) ก็คืออะไหล่โลหะ 6 อันที่ติดตั้งอยู่บนหัวกีตาร์ หน้าที่ก็เพื่อไว้ยึดสายกีตาร์นั่นเอง
- แซดเดิล (saddles) และ หย่อง (bridge) แซดเดิลคือชิ้นส่วนอันเล็กๆ ที่วางไว้บนไม้หย่อง มันทำหน้าที่คล้ายๆ นัทและมีตัวเลือกวัสดุเหมือนๆ กัน เพียงแต่แซดเดิลถูกวางไว้คนละฝั่งของสายกีตาร์โดยติดตั้งอยู่บนแผ่นไม้ที่เรียกว่าหย่องหรือ bridge ที่ทำหน้าที่เหมือนตอม่อหรือสมอบกที่รั้งสายกีตาร์เอาไว้
- ปิ๊คการ์ด (pick guard) แผ่นวัสดุบางๆ วางอยู่ถัดจากโพรงเสียงฝั่งสาย 1 จุดประสงค์แรกเริ่มเดิมทีของปิ๊คการ์ดก็เพื่อไว้ป้องกันไม่ให้ไม้ท็อปมีรอยข่วนของปิ๊คที่เกิดจากการตีคอร์ด แต่ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็มีการปรับรูปทรงปิ๊คการ์ดของตัวเองให้มีความสวยงามดูกลมกลืนกับดีไซน์กีตาร์ของตัวเอง กลายเป็นจุดขายของกีตาร์โปร่งแต่ละแบรนด์ เช่น Gibson หลายๆรุ่น เป็นต้น
- ระบบไฟฟ้าหรือปิคอัพ (acoustic pickups) กีตาร์โปร่งบางตัวจะมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อแปลงเสียงของกีตาร์โปร่งและส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปที่แอมป์เพื่อใช้เล่นออกงาน บางครั้งเราก็เรียกกีตาร์โปร่งที่ติดปิคอัพว่า “กีตาร์โปร่งไฟฟ้า” ปิคอัพที่ใช้กับกีตาร์โปร่งนั้นมีหลายรูปแบบ หลายเกรด หลายยี่ห้อ หลายราคา ซึ่งผู้เขียนจะลงรายละเอียดในหัวข้ออื่นๆ ต่อไป
- งานประดับ อันนี้ไม่เกี่ยวกับเสียง แต่มักมีผลทางใจอย่างมาก งานประดับของทุกส่วนของกีตาร์โปร่งสามารถถูกประดับอัพความสวยได้หมด ไล่ตั้งแต่ฟิงเกอร์บอร์ดที่มีการฝังอินเลย์ลวดลายสวยล้ำงามตามากกว่าแค่จุดกลมๆ เช่น ขอบบอดี้ที่มีการเดินเส้น binding เส้น purfing สวยๆสารพัดวัสดุบนไม้หลัง ลวดลายกราฟิคตรงขอบโพรงเสียง (rosette) ที่มีการประดับประดาด้วยอินเลย์จากเปลือกหอยอบาโลน ปิ๊ดการ์ดลวดลายเก๋ๆ ของกีตาร์ Gibson the Dove เป็นต้น และแน่นอนว่ายิ่งของประดับเยอะเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งสูงตามไปเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรกีตาร์สวยๆ มันก็น่ามอง น่าภาคภูมิใจในการครอบครองมากกว่ากีตาร์เรียบๆ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่มีลูกค้ามากมายยินดีจ่ายเพิ่มเพื่องานประดับ ก็เหมือนๆ สินค้าทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่ผู้ซื้อจะมองหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองนั่นแหละ
ประเภทของกีตาร์โปร่ง
ปัจจุบันที่พวกเราคุ้นหูคุ้นตากัน ก็คงจะมี 2 ประเภทหลักๆ คือ กีตาร์คลาสสิค (classical guitars) กับ กีตาร์โปร่งสายเหล็ก (steel string guitars)
กีตาร์คลาสสิค/กีตาร์สายเอ็น
กีตาร์แบบนี้เกิดมาเพื่อดนตรีแนวเก่าแก่คลาสสิคที่ใช้นิ้วมือขวา (หรือซ้ายถ้าถนัดซ้าย) เล่นทุกไลน์ของเพลงด้วยกีตาร์เพียงตัวเดียว ฟิงเกอร์บอร์ดจึงกว้างมากเพื่อให้นิ้วมีพื้นที่ให้เคลื่อนไหวเยอะๆ กีตาร์แบบนี้ใช้สายไนลอนหรือสายเอ็นขึงแทนสายโลหะ การใช้สายเอ็นให้โทนเสียงที่มีความกลม นุ่มนวล ดีดโน้ตสูงแค่ไหนก็ไม่มีโทนเสียงแหลมบาดหู
กีตาร์สายเหล็ก
ผู้ให้กำเนิดกีตาร์โปร่งประเภทนี้คือ Mr. Christian Frederick Martin ผู้ก่อตั้งแบรนด์กีตาร์ C.F. Martin ที่พวกเรารู้จักกันดีนั่นเอง กีตาร์โปร่งประเภทนี้เป็นกีตาร์โปร่งที่พบได้เกือบจะทั้งหมดในท้องตลาด เนื่องจากใช้งานได้กว้าง เล่นได้หลายสไตล์ เกาก็ได้ ตีคอร์ดก็สนุก มีความคมใสมากกว่ากีตาร์สายเอ็น ราคาก็มีหลากหลายสามารถซื้อหามาเล่นกันได้ตั้งแต่หลักพันบาทจนไปถึงหลักแสนหลักล้าน เสียงกีตาร์โปร่งในเพลงที่เราเคยๆฟัง ส่วนใหญ่ก็มักใช้กีตาร์ประเภทนี้เล่น
รูปทรงของกีต้าร์โปร่ง
สำหรับกีตาร์คลาสสิคที่มีทรงเฉพาะตัวอยู่แล้วอาจจะไม่ค่อยมีความหลากหลายมากนัก แตกต่างจากกีตาร์โปร่งสายเหล็กที่มีรูปทรงหลากหลายมาก ๆ และแต่ละทรงก็มีส่วนเว้าส่วนโค้งต่างกัน ขนาดบอดี้กีตาร์ก็ต่างกัน จุดเด่นจุดด้อยก็ต่างกันไปด้วย รูปทรงของกีตาร์โปร่งสายเหล็กที่เราจะพบเจอตามร้านขายกีตาร์ส่วนใหญ่ ก็เช่น
- Dreadnought (เดรดน็อท) เป็นทรงที่พวกพบเจอบ่อยที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งออกแบบโดยคุณมาร์ตินเจ้าเก่าเมื่อปี 1916 โดยตั้งชื่อตามเรือรบลำใหญ่ของราชนาวีอังกฤษในยุคนั้น กีตาร์โปร่งทรงสุดอมตะทรงนี้ให้เสียงที่เต็ม โดยที่มีขนาดตัวกว้างพอเหมาะ เนื่องจากมีความได้เปรียบตรงความลึกที่มากกว่าหลาย ๆ ทรง และมีช่วงเอวที่ไม่เว้ามากนัก ทำให้ได้โครงสร้างกีตาร์โปร่งที่มีปริมาตรบอดี้มาก ให้เสียงดัง เล่นได้กว้าง ยิ่งถ้าได้ไม้อย่างมาฮอกกานีหรือโรสวูดมาประกบไม้ท็อป sitka spruce ยิ่งเหมาะเจาะลงตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่กีตาร์ทรงนี้ของ Martin จะเป็นที่นิยมมากที่สุด และถูกก๊อบปี้มากที่สุดในโลก
- OO หรือ Grand Concert พัฒนาจากทรงของกีตาร์คลาสสิค ช่วงเอวจึงไม่กว้างไปกว่าช่วงไหล่มากนัก และมิติโดยรวมของกีตาร์ยังค่อนข้างกะทัดรัด แตกต่างจากทรงเดรดน็อทค่อนข้างมาก แต่ด้วยความกะทัดรัดของมันนี่เองที่เหมือนจำกัดเนื้อเสียงย่านต่ำเอาไว้ไม่ให้เด่นไปกว่าย่านแหลม กีตาร์ทรงนี้จึงเหมาะกับการเล่น finger style หรือการโซโล่ที่ต้องการความชัดเจนของแต่ละโน้ตอย่างมาก กีตาร์ทรงนี้ที่เด่น ๆ ก็แน่นอนว่าอันดับหนึ่งก็ต้องเป็นยี่ห้อต้นฉบับของทรงนี้ซึ่งก็คือ C.F. Martin ส่วนอีกเจ้าดังที่เอาไปพัฒนาต่อยอดเป็นทรงของตัวเองก็คือ Taylor รหัสทรงเลข 12 นั่นเอง
- OM, OOO หรือ Grand Auditorium สำหรับทรงนี้จะคล้ายๆทรง OO แต่มีช่วงเอวกว้างขึ้น ให้เนื้อเบสที่มากขึ้นนิดหน่อยตามขนาดแต่ก็ยังเป็นย่านเบสที่มีโฟกัส ด้วยความที่ย่านเบสกลบย่านแหลมไม่มากนักมันจึงเหมาะกับการเล่นโซโล่หรือ finger style ด้วย ทรงนี้มักถูกแบรนด์อื่นนำไปพัฒนาต่อให้เป็นดีไซน์ของตัวเองที่มีความสวยงามดูสมัยใหม่มากขึ้น ที่เห็นชัดๆเลยก็คงหนีไม่พ้น Taylor รหัสทรง 14 ที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่
- Jumbo จากชื่อก็คงเดาไม่ยากว่าหมายถึงทรงที่มีขนาดใหญ่เบิ้มเป็นพิเศษ กีตาร์ทรงนี้ออกแบบมาให้มีปริมาตรภายในบอดี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยที่มันยังมีความเป็นกีตาร์โปร่งอยู่ จุดประสงค์ที่เพิ่มมิติบอดี้ก็เพื่อสร้างย่านเบสที่มีความเป็นสามมิติที่สุด มีความลึกชัดเจนอย่างที่ทรงอื่นๆ ไม่สามารถให้ได้ ซึ่งคนที่ใช้กีตาร์ทรงนี้ส่วนใหญ่ก็จะซีเรียสกับความ “เต็ม” ของโทนเสียง เพราะกีตาร์ไซส์จัมโบ้นี้มีข้อเสียในเรื่องย่านแหลมที่เริ่มถูกย่านเบสบดบัง นอกจากนี้ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าปกติก็อาจทำให้ลำบากในการขนย้าย หากพูดถึงกีตาร์โปร่งทรงนี้แล้ว กีตาร์รุ่นตำนานที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คงหนีไม่พ้น Gibson SJ-200
กีต้าร์โปร่งต้องเว้าหรือไม่เว้า?
หนึ่งในออฟชันที่หลายคนก็ให้ความสำคัญ คือการมีชายเว้า (cutaway) ซึ่งหมายถึงการออกแบบให้บอดี้ช่วงไหล่ด้านล่างเว้าแหว่งลึกเข้ามา เพื่อความสะดวกในการเล่นเฟรทที่ลึกกว่า 14 โดยเฉพาะการเล่นโซโล่
แต่สิ่งที่ควรทราบก็คือ กีตาร์โปร่งเป็นเครื่องดนตรีที่ปริมาตรอากาศในบอดี้มีผลต่อเสียง นั่นหมายความว่าการมีชายเว้าทำให้ปริมาตรอากาศในบอดี้ลดลงไป แม้จะดูไม่มากนัก แต่จากที่ผู้เขียนได้ลองเล่นกีตาร์โปร่งมาหลายตัว หลายแบรนด์ หลายทรง และเคยเปรียบเทียบเสียงจากกีตาร์โปร่งสเปคเดียวกันเทียบกันตัวต่อตัวระหว่างมีชายเว้ากับไม่เว้า ก็พอจะได้ยินความแตกต่างของเสียง แม้จะไม่มากมาย แต่มันมีความแตกต่างอยู่อย่างแน่นอน
กล่าวคือบอดี้ไม่เว้าเสียงจะออกมาเต็มกว่าเล็กน้อย เล่น finger style แล้วรู้สึกมีความลึกมีมิติมากกว่า เทียบความต่างคงประมาณ 10-20% ซึ่งสำหรับคนที่ซีเรียสเรื่องเสียงและไม่เน้นเล่นเฟรทในๆ การไม่เว้าถือเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย แต่สำหรับคนที่อยากได้ดีไซน์ที่พร้อมรองรับทุกสไตล์การเล่น การมีชายเว้าไว้เผื่อใช้ก็อุ่นใจกว่า
แล้วจะเลือกอะไรดี? เรื่องนี้คงต้องถามใจตัวเองว่ามองหาอะไรจากกีตาร์โปร่งตัวหนึ่งมากกว่ากัน ระหว่างเสียงที่มาเต็มร้อย หรือยอมลดความเข้มข้นลงนิดหน่อยเพื่อฟังก์ชันการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
ส่วนประกอบต่างๆ ของกีต้าร์โปร่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงกีต้าร์ ลักษณะเว้าหรือไม่เว้า ล้วนทำให้เกิดกีต้าร์ที่มีเสียงและลักษณะการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง จนเกิดเอกลักษณ์ทางเสียง
วันนี้คงได้ไขข้อข้องใจของใครหลายๆคน ว่าส่วนประกอบแต่ละส่วนมันเรียกว่าอะไรนะ แล้วลักษณะต่างๆมันมีผลต่อเสียงกีต้าร์ยังไง พวกเราขอจบบทความนี้แต่เพียงเท่านี้ก่อน แล้วเจอกันกับวัสดุการทำกีต้าร์โปร่งในบทความหน้าจ้า!!!
สำหรับใครอ่านปัจจัยในการเลือกกีต้าร์โปร่งกันไปแล้ว อยากได้กีต้าร์โปร่งมาครอบครองลองหัดเล่นดูบ้าง หรือเป็นมืออาชีพแล้วอยากได้กีต้าร์ตัวใหม่ ลองแวะไปดูที่ กีต้าร์โปร่ง หรือสอบถามข้อมูล คลิก