แอมป์กีตาร์โปร่งคืออะไร แล้วมันต่างจากแอมป์กีตาร์ไฟฟ้ายังไง?
Amplifier หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า แอมป์ หน้าที่ของมันก็คือเพิ่มความดัง ขยายสัญญาณเสียงของอุปกรณ์บางอย่างให้ดังมากขึ้น ได้ยินไปไกลขึ้น ดังนั้น แอมป์กีตาร์โปร่ง ก็ทำหน้าที่ขยายเสียงกีตาร์โปร่งให้มันดังขึ้นกว่าเสียงของตัวมันเอง
แม้แอมป์กีตาร์โปร่งจะมีหน้าที่ในการเพิ่มความดังของเสียงกีตาร์ซึ่งก็ดูจะคล้ายๆ แอมป์กีตาร์ไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว แอมป์กีตาร์โปร่งถูกออกแบบมาเพื่อถ่ายทอดคาแรคเตอร์ของเสียงธรรมชาติของกีตาร์โปร่งซึ่งแตกต่างจากกีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งนั่นหมายความว่าส่วนประกอบต่างๆ รวมถึงการตอบสนองต่อความถี่ของแอมป์กีตาร์โปร่งก็แตกต่างจากแอมป์กีตาร์ไฟฟ้าตามไปด้วย และด้วยโจทย์ของการใช้งานที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง มีกรอบการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ตลาดของแอมป์กีตาร์โปร่งไม่กว้างเท่าแอมป์ของกีตาร์ไฟฟ้าซึ่งมีมากมายหลายแบรนด์หลายรุ่นเหลือเกิน
สำหรับบทความตอนนี้ผู้เขียนจะขอเล่าถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแอมป์กีตาร์โปร่ง รวมถึงแนวทางการเลือกซื้อแอมป์กีตาร์โปร่งนะ
เราควรมีแอมป์กีตาร์โปร่งไว้ใช้มั้ย?
ขึ้นอยู่กับว่า เราต้องการใช้กีตาร์โปร่งทำอะไรบ้าง? ถ้าแค่ไว้เล่นแก้เหงาอยู่บ้าน อยู่ในห้องนอน หรือเอาไปเล่นร้องเพลงกับเพื่อนริมชายหาด แอมป์กีตาร์โปร่งก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะเราไม่ได้ต้องการความดังขนาดนั้น แค่เสียง acoustic ตามธรรมชาติของกีตาร์ก็เหลือเฟือ
แต่ ถ้าเราต้องใช้กีตาร์โปร่งซ้อมในวงที่มีเครื่องครบ กลอง เบส กีตาร์ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งทุกเครื่องก็มีความดัง ก็จำเป็นที่ต้องมีแอมป์ไว้เพิ่มความดังของกีตาร์โปร่งให้เล่นร่วมกับเครื่องอื่นๆได้ รวมถึงนักดนตรีอาชีพที่ต้องเล่นวงหรือเล่นแนว folk songs ในร้านหรือเล่นในสถานที่ที่มีคนฟังเยอะและอยู่ห่างจากผู้เล่นออกไป แอมป์กีตาร์โปร่งสักตัวก็เป็นสิ่งที่ต้องมีไว้
นอกจากที่ว่ามาข้างต้น ก็ยังมีผู้ใช้งานกีตาร์ไฟฟ้าที่ต้องการแอมป์กีตาร์โปร่งไว้ใช้งานคู่กับแอมป์กีตาร์ไฟฟ้าเช่นกัน เนื่องจากกีตาร์ไฟฟ้าบางรุ่นมากับระบบ pickups สองระบบ คือสามารถทำเสียงกีตาร์ไฟฟ้าและกีตาร์โปร่งได้ในตัวเดียวกัน เช่น Music Man JP, Parker, PRS Hollowbody เป็นต้น เพื่อความสมจริงของเสียงกีตาร์โปร่งมากที่สุด
ประเภทของแอมป์กีตาร์โปร่ง
เช่นเดียวกับแอมป์กีตาร์ไฟฟ้า แอมป์กีตาร์โปร่งก็มีอยู่สองประเภทหลักๆ คือ 1) แอมป์หลอดสุญญากาศ และ 2) แอมป์ solid state
1) แอมป์หลอดสุญญากาศ
หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า แอมป์หลอด เป็นแอมป์ที่ใช้หลอดสุญญากาศ (vacuum tubes) เทคโนโลยีสุดวินเทจยุคสงครามโลกมาขยายความดังของเสียงกีตาร์ แอมป์ชนิดนี้โดยปกตินิยมใช้ในวงการกีตาร์ไฟฟ้ามากกว่า เนื่องจากคาแรคเตอร์ของแอมป์จะเปลี่ยนไปตามเบอร์ของหลอด จำนวนหลอด โดยรวมแล้ว แอมป์กีตาร์โปร่งที่ใช้หลอดสุญญากาศเป็นตัวขับจะให้โทนเสียงที่นุ่มนวลซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ของแอมป์หลอดที่วงการกีตาร์ไฟฟ้านิยมกัน ซึ่งแม้ความนุ่มนวลของเนื้อเสียงจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกแง่หนึ่ง การแต่งเติมสีสันแบบนี้อาจกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์หากเราต้องการการถ่ายทอดเสียงจริงของกีตาร์โปร่ง นอกจากนี้ แอมป์ประเภทนี้ยังต้องระมัดระวังในการใช้งานและการขนย้าย เพราะหลอดสุญญากาศมีความเปราะบาง รวมถึงมีอายุการใช้งานที่จำกัด ต้องมีการเปลี่ยนหลอดตามระยะ และด้วยการมีหลอดสุญญากาศเป็นส่วนประกอบสำคัญ ก็ทำให้แอมป์ชนิดนี้มีราคาสูง
2) แอมป์ solid state
เป็นแอมป์ที่ใช้ตัว transistor ในการขับเสียง เจ้าตัวที่ว่านี้มันก็คืออะไหล่แบบที่อยู่บนแผงวงจรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราอาจเคยเห็นผ่านตากันมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี เครื่องเสียง ฯลฯ ข้อดีของแอมป์ประเภทนี้สำหรับกีตาร์โปร่ง คือ สามารถถ่ายทอดลักษณะเสียงของกีตาร์โปร่งได้ใกล้ความเป็นจริง ดูแลรักษาง่ายไม่จุกจิก ใช้งานง่าย มีความยืดหยุ่น ที่สำคัญราคาไม่สูงมากนัก เราสามารถซื้อหาแอมป์กีตาร์โปร่งประเภทนี้รุ่นสูงๆ ได้ในงบไม่กี่หมื่นบาท
ใช้แอมป์กีตาร์ไฟฟ้าแทนได้มั้ย?
กีตาร์ไฟฟ้าใช้ปิคอัพหรือตัวรับรู้การสั่นของสายกีตาร์ที่มีแม่เหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กบริเวณรอบๆสายกีตาร์ แล้วจึงถ่ายทอดสัญญาณไปยังแอมป์ของกีตาร์ไฟฟ้าซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรับสัญญาณที่ถูกส่งมาด้วยปิคอัพแม่เหล็ก
แต่ปิคอัพของกีตาร์โปร่งนั้นแตกต่างออกไป ปิคอัพของกีตาร์โปร่งเป็นประเภท transducer ซึ่งติดตั้งไว้ใต้ saddle เพื่อรับการสั่นของสายแล้วส่งสัญญาณต่แไปยัง pre-amplifier หรือไม่ก็เป็นไมโครโฟนตัวเล็กๆ ที่ติดตั้งไว้ภายในบอดี้ ด้วยเหตุนี้แอมป์กีตาร์โปร่งจึงถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองแหล่งที่มาของสัญญาณตามที่กล่าวมาซึ่งต่างจากแอมป์กีตาร์ไฟฟ้าโดยสิ้นเชิง
ในทางปฏิบัติ แม้เราจะสามารถใช้แอมป์กีตาร์ไฟฟ้าขยายเสียงของกีตาร์โปร่งให้ดังขึ้นได้ แต่เสียงที่ออกมาก็จะผิดเพี้ยนไปจากคาแรคเตอร์ที่กีตาร์โปร่งควรจะเป็น พูดง่ายๆคือ ใช้ได้ แต่เป็นการใช้งานของผิดประเภท และจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น อาจทำให้เสียงของกีตาร์โปร่งราคาแพงกลายเป็นเสียงอะไรก็ไม่รู้ไปเลย
ส่วนประกอบของแอมป์กีตาร์โปร่ง
แม้แอมป์กีตาร์โปร่งจะให้เสียงแตกต่างจากแอมป์กีตาร์ไฟฟ้า แต่โดยหลักการแล้วก็มี flow การทำงานไม่ต่างกัน กล่าวคือเริ่มจากการรับสัญญาณจากกีตาร์เข้าสู่วงจรปรุงสัญญาณเสียงต่างๆ เช่น EQ และเอฟเฟคต่างๆ แล้วจึงส่งไปภาคขยายเสียง (power section) เพื่อขับดอกลำโพงให้กระพือด้วยความถี่ต่างๆกัน กลายเป็นเสียงกีตาร์ ซึ่งชิ้นส่วนอะไหล่ระบบภายในของแอมป์กีตาร์โปร่งก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างจากแอมป์กีตาร์ไฟฟ้า เช่น ดอกลำโพงที่ใช้ก็จะเน้นขับย่านเสียงแหลมมากกว่าเสียงทุ้มเพื่อความคมใสของเสียงกีตาร์โปร่ง เป็นต้น
หลักการเลือกแอมป์กีตาร์โปร่งเบื้องต้น
1. ประเภทของแอมป์ที่เหมาะสม
สำหรับผู้ใช้งานกีตาร์โปร่งทั่วไปที่ไม่ได้มีโจทย์เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นแอมป์หลอด ผู้เขียนขอแนะนำว่าแอมป์ประเภท solid state มีความเหมาะสมกับกีตาร์โปร่งมากกว่าแอมป์แบบหลอดสุญญากาศด้วยเหตุผลหลายประการตามที่ได้เล่าไปแล้วข้างต้น แต่เหตุผลสำคัญที่สุดในมุมมองของผู้เขียนเอง ก็คือ แอมป์ประเภทนี้ถ่ายทอดเสียงของกีตาร์โปร่งได้ซื่อสัตย์ ใกล้เคียงเสียงธรรมชาติของกีตาร์โปร่งมากกว่าแอมป์หลอดนั่นเอง ส่วนประเด็นเรื่องราคาที่ไม่แพงก็ถือเป็นโบนัสของแอมป์ประเภทนี้เช่นกัน
2. กำลังขับ
สำหรับการเล่นอาชีพ เช่น เล่นในร้านเหล้าหรือเล่นกับวง แอมป์กีตาร์โปร่งที่มีกำลังขับประมาณ 50-60 วัตต์ก็ถือว่าเหลือเฟือ และแอมป์กีตาร์โปร่งที่มีกำลังขับประมาณนี้นั้น นอกจากมีความดังเหมาะสมแล้ว ส่วนใหญ่ยังมากับขนาดที่กะทัดรัด สามารถขนย้ายได้สะดวกอีกด้วย แต่หากสถานที่ใหญ่ขึ้น เช่นอาจเป็นคอนเสิร์ตขนาดย่อมๆ กำลังขับ 100 – 200 วัตต์ก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่สำหรับวงใหญ่ๆ หรือเล่นคอนเสิร์ตแบบจริงๆจังๆ ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการเพิ่มกำลังขับของแอมป์กีตาร์โปร่ง คือการต่อเข้าระบบ PA
3. Input channels
แอมป์กีตาร์โปร่งยุคใหม่มักมี 2 แชนแนล โดยนอกจาก ch. แรกที่ไว้เสียบสายสัญญาณจากกีตาร์โปร่งแล้ว ก็ยังมีอีกแชลแนลไว้ต่อไมค์ร้องเพลง โดยแต่ละแชนแนลก็จะมีปุ่มปรับเสียงหรือเอฟเฟคให้ด้วย ซึ่งก็เป็นออปชั่นที่ดี เพราะโดยธรรมชาติของการเล่นกีตาร์โปร่ง ก็อาจมีโอกาสที่ได้ฉายเดี่ยวเล่นไปร้องไปสไตล์ folk song การมีแอมป์กีตาร์โปร่งตัวเดียวที่ทำได้ทั้งขยายเสียงกีตาร์และเสียงร้องก็ย่อมสะดวกในการ set up และการขนย้ายอีกด้วย
4. ระบบตัดเสียงหอน
โครงสร้างของกีตาร์โปร่งเองสร้างเสียงโดยการสั่นสะเทือน การสั่นสะเทือนนี้บางครั้งก็ทำให้เกิดเสียงหอน (feedback) แสบแก้วหูไปออกแอมป์ โดยเฉพาะในการเล่นสดที่ใช้ความดังมากๆ ยิ่งมีโอกาสหอนมากขึ้น แอมป์กีตาร์โปร่งจึงมักมีระบบลดเสียงหอนลงเพื่อลดปัญหาดังกล่าวในการใช้งาน เช่น phase switch
5. เอฟเฟคในตัว
นอกจากปุ่มปรับ equalizer แต่ละย่านความถี่แล้ว แอมป์กีตาร์โปร่งก็มักมีเอฟเฟคพื้นฐานแถมมาให้ด้วย เช่น reverb, delay, chorus เป็นต้น ซึ่งการมีไว้ก็ดีกว่าไม่มี อย่างเช่นเสียง reverb ผู้เขียนคิดว่าเป็นเอฟเฟคที่จำเป็นเพื่อเพิ่มมิติความสมจริงของเสียงและสร้างบรรยากาศในการรับฟัง
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่แอมป์ออกแบบมาเพื่อการใช้งานหลักๆของมัน คือเพื่อการขยายเสียง ดังนั้นลูกเล่นในเรื่องเอฟเฟคแต่งเสียงจึงมักมีเท่าที่จำเป็นต้องใช้บ่อยๆ จริงๆ เท่านั้น หากผู้ใช้งานต้องการเอฟเฟคอื่นๆ หรือต้องการสร้างเสียงกีตาร์โปร่งที่มีความสลับซ้อนมากกว่าแค่เสียงเพราะแบบธรรมชาติๆแล้ว เราก็ยังสามารถซื้อหาเอฟเฟคสำหรับเล่นกับกีตาร์โปร่งมาใช้เพิ่มความหลากหลายในการใช้งานได้ ซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าวในบทความตอนต่อไป
6. การเชื่อมต่อ
นอกจากรูแจ๊ค input ¼ นิ้ว สำหรับต่อสายสัญญาณปกติจากกีตาร์ แอมป์กีตาร์โปร่งส่วนใหญ่ยังมากับรูแจ๊คลูกผสม ¼ นิ้วกับ balanced XLR เพื่อรองรับไมค์แบบ XLR ได้ ผู้ใช้งานยุคใหม่ก็นิยมอัดเสียงกีตาร์ในคอม แอมป์กีตาร์โปร่งยุคนี้จึงมักมีพอร์ท USB สำหรับส่งสัญญาณเข้าคอมพิวเตอร์ได้ด้วย นอกจากนี้ แอมป์กีตาร์โปร่งบางรุ่นยังมากับออปชั่นเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายได้ เช่น Bluetooth ช่วยให้การแจมกับ backing track จากโทรศัพท์มือถือหรือ tablet ทำได้สะดวก ไม่ต้องมีสายไฟระโยงระยางเกะกะ
7. มีแบตเตอรี่ในตัว
ออปชั่นนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากหากต้องไปเล่นในจุดที่ห่างไกลจากปลั๊กไฟ หรืออยู่ไม่ไกลปลั๊กไฟแต่ไม่อยากใช้ไฟของเขา (ฮ่าๆ) แต่การมีออปชั่นนี้ก็แน่นอนว่าเพิ่มราคาของแอมป์ขึ้นไป หากใช้งานแอมป์ด้วยไฟจากแบตเตอรี่ผู้ใช้งานต้องทราบว่าแอมป์ตัวเองสามารถใช้งานได้นานเท่าใดต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง สิ่งที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่งคือมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ เนื่องจากแบตเตอรี่แบบชาร์จได้นั้นมีอายุการใช้งานของมันไม่ต่างอะไรจากแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ ออปชั่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาดีๆว่าจำเป็นต้องใช้หรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรเอามาเป็นภาระ
8. คุณภาพเสียง
จากประสบการณ์ที่เคยลองแอมป์กีตาร์โปร่งมาหลายรุ่นหลายราคา แม้แอมป์เหล่านั้นจะมีลูกเล่นมานำเสนอใกล้เคียงกัน แม้จะเขียนในหน้าสเปคว่าตอบสนองความถี่เสียงเท่านั้นเท่านี้ใกล้เคียงกัน แต่ความจริงก็คือ แอมป์แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น แต่ละราคา ให้เสียงที่ต่างกัน แอมป์กีตาร์โปร่งที่ราคาถูกนั้น แม้จะเพียงพอสำหรับการใช้งานจริง แต่ถ้าเพื่อนๆ ได้ลองเล่นแอมป์คุณภาพสูงกว่า ได้ยินความแตกต่างของเสียงแอมป์กีตาร์โปร่งแต่ละราคา ก็อาจเปลี่ยนใจจัดแอมป์รุ่นราคาสูงกว่าได้ง่ายๆ เพราะไม่ว่าคุณภาพเสียงกีตาร์ที่ขยายรวมไปถึงคุณภาพของเสียงเอฟเฟคก็ดีกว่าตามราคา ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ไปลองกับแอมป์จริง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ใช้ของแบรนด์ดีๆ ทีเดียวจบไปเลย เพราะเราคงไม่ใช้แอมป์กีตาร์โปร่งหลายตัวอย่างแอมป์กีตาร์ไฟฟ้า แถมราคาแอมป์กีตาร์โปร่งรุ่นดีๆ ก็ไม่ได้แพงหลายหมื่นหลายแสนอะไรอย่างแอมป์หลอดของกีตาร์ไฟฟ้า
9. ราคา
ข่าวดีสำหรับคนที่จะซื้อแอมป์กีตาร์โปร่งก็คือ แอมป์ชนิดนี้ราคาไม่ค่อยแพงนัก ส่วนหนึ่งเพราะแอมป์กีตาร์โปร่งในปัจจุบันเป็นแอมป์ประเภท solid state แทบทั้งหมดซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงนัก อีกทั้งยังมีผู้ผลิตรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ช่วงราคาของแอมป์กีตาร์โปร่งไม่กว้างนัก คือเริ่มจากแอมป์เล็กๆ 15 วัตต์อย่าง Fender Acoustasonic ราคาสามพันกว่าบาท ส่วนแอมป์กำลังขับกำลังเหมาะๆใช้ออกงานอย่าง Fishman Loudbox Mini 60 วัตต์ ราคาก็แค่หมื่นต้นๆ ไปจนถึงแอมป์กำลังขับสูงๆ อย่าง Marshall
10. การรับประกันจากร้าน
ข้อดีของการซื้อแอมป์จากร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายคือมีประกันจากบริษัทผู้ผลิตให้ ซึ่งถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป ผู้เขียนก็อยากแนะนำให้ซื้อแอมป์กีตาร์โปร่งมือหนึ่งจากร้านที่มีประกันให้ จะปลอดภัยกว่าการหาแอมป์มือสองที่หมดประกันแถมไม่รู้ว่าอายุการใช้งานของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆผ่านการใช้งานมาหนักเพียงใด และยังใช้งานได้อีกนานเท่าใดที่มันจะไม่เจ๊งกลางงานให้ขายหน้าคนดู
ตัวอย่างแอมป์กีตาร์โปร่งที่น่าสนใจ
แอมป์กีตาร์โปร่ง Vox VX50AG
- แอมป์ solid state ที่มีเทคโนโลยี NuTube จำลองโทนเสียงหลอด pre amp
- กำลังขับ 50 วัตต์
- ดอกลำโพงขนาด 8″ พร้อมโครงสร้างตัวตู้ที่ออกแบบมาให้สะท้อนย่านความถี่ต่ำได้ดีเยี่ยม
- 2 channels กีตาร์และ XLR inputs
- มีเอฟเฟค chorus และ reverb ซึ่งใช้งานพร้อมกันได้
- ช่องต่อหูฟังและช่อง AUX input
- ราคาสุดประหยัดเพียง 7,650 บาท
แอมป์กีตาร์โปร่ง Fender Acoustic 100
- แอมป์ solid state กำลังขับ 100 วัตต์
- ดอกลำโพงแบบ whizzer cone ขนาด 8″ ให้เสียงครบทุกย่านความถี่
- ต่อกับกีตาร์พร้อมกับไมค์ได้
- เชื่อมต่อ Bluetooth ใช้ฟังเพลงหรือเปิด backing track เพื่อซ้อมเล่นได้
- มี digital effect หลายแบบ
- มีพอร์ท USB สำหรับบันทึกเสียงในคอมพิวเตอร์
- มีช่องต่อ Auxiliary input, XLR line output, และช่องต่อหูฟัง
- เลือกแรงดันไฟได้ สามารถนำไปใช้งานได้ทุกประเทศ
- มีหูหิ้วเพื่อความสะดวกในการขนย้าย
- บอดี้ไม้ plywood ดูสวยงาม
- ราคาเพียง 16,200 บาท
ส่งท้าย
สำหรับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแอมป์กีตาร์โปร่งก็จะมีประมาณนี้นะ สำหรับตอนต่อไปเราจะมาดูเอฟเฟคสำหรับกีตาร์โปร่งบ้าง เผื่อใครรู้สึกอึดอัดกับจำนวนเอฟเฟคอันน้อยนิดที่แถมมากับแอมป์แล้วอยากได้เสียงอื่นๆ เพิ่มเพื่อสร้างสีสันให้กับเสียงกีตาร์โปร่งของตัวเอง โปรดติดตามตอนต่อไปจ้า