เอฟเฟคกีต้าร์
เอฟเฟคกีต้าร์คืออะไร
เอฟเฟคกีต้าร์ คืออุปกรณ์ที่เราใช้เปลี่ยนเสียงของกีต้าร์ (หรือเบส) ให้เป็นเสียงลักษณะต่างๆ ตามความต้องการของผู้เล่น
โดยส่วนใหญ่ออกแบบมาให้วางบนพื้นและมีปุ่มให้เหยียบเพื่อเลือกเสียง แต่ก็มีบ้างที่มาในรูปแบบ rack mount ซึ่งต้องใช้งานร่วมกับ foot switch หรืออาจจะเป็นแบบตั้งโต๊ะซึ่งออกแบบมาเพื่อการใช้งานในสตูดิโอหรือเพื่อการบันทึกเสียงในบ้านเป็นหลัก
เสียงของเอฟเฟคกีต้าร์
แน่นอนว่า เสียงจากกีต้าร์ไฟฟ้าที่ทุกคนจะนึกถึงเป็นประเภทแรกๆ เสียงที่มากับเพลงร็อกอมตะที่เราฟังกันมาตั้งแต่เด็ก ก็คงหนีไม่พ้นเสียงแตก ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเอฟเฟคประเภทนี้ถือกำเนิดขึ้นจากความพยายามเลียนแบบเสียงแอมป์หลอดสมัยยุค 60s ที่ถูกหมุน volume ไปถึง 10 จนเสียงมีอาการแตกพร่า ปัจจุบันเอฟเฟคก้อนเสียงแตกก็มีมากมายหลายแบบเหลือเกิน ผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อก็มีการผลิตเอฟเฟคเสียงแตกแยกย่อยออกไปเป็นหลายรุ่นซึ่งสำหรับคนที่เริ่มต้นกับกีต้าร์ไฟฟ้าใหม่ๆคงมีสับสนกันบ้าง แต่เราพอจะแบ่งสไตล์เสียงของเอฟเฟคในกลุ่มนี้ออกเป็น 3 แบบ คือ
- Overdrive ให้ระดับความแตกพร่าตั้งแต่น้อยๆ ไปจนถึงปานกลาง เป็นเสียงแตกที่ยังได้ยินเนื้อเสียงจริงของกีต้าร์อยู่ เสียงแตกแบบนี้มีหลากหลายคาแรคเตอร์ แตกต่างกันไปตามผู้ผลิตเช่น Fender Santa Anna Overdrive
-
- Distortion ให้ความแตกแบบดุดันอย่างที่ดนตรีแนวร็อกและเมทัลต้องการ หลักการออกแบบคล้าย overdrive แต่เพิ่ม gain เข้าไป เสียงแตกแบบนี้เน้นความสะใจของเสียงเเตกที่มี gain มากมายมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น Vox V8 Distortion
- Fuzz ให้เสียงแตกที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นเสียงแตกอ้วนๆ รกๆ ดิบๆ อารมณ์ประมาณเพลงร็อกยุค 70’s ลองนึกถึงงานของ Jimi Hendrix น่าจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น TC Rusty Fuzz
เอฟเฟคกีต้าร์ในกลุ่ม Delay, Reverb
หลักการทำงานของเอฟเฟคในกลุ่มนี้คือการก๊อบปี้โน้ตแรกที่ถูกเล่นออกมา หน่วงเวลาของโน้ตที่ก๊อปไว้แล้วเล่นโน้ตนั้นซ้ำๆ เร็ว ช้า สั้น ยาวเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่ที่เราปรับ
ถ้าเป็น reverb ก็จะเพิ่มมิติของเสียงเพื่อจำลองลักษณะของเสียงที่สะท้อนไปมาในสถานที่ต่างๆ ที่มีพื้นที่ (space) แตกต่างกัน เช่น room, church และ hall เป็นต้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีสร้างเสียงของเอฟเฟคในกลุ่มนี้พัฒนาไปไกลมาก สามารถสร้างเสียง delay ที่มีความซับซ้อน หรือ reverb ที่มีความลึกก้องกังวานราวกับนั่งฟังอยู่ในห้องหรือ concert hall จริงๆ
เอฟเฟคกีต้าร์ในกลุ่ม modulation
เสียงเอฟเฟคในกลุ่ม modulation มีหลักการในการสร้างเสียงโดยเปลี่ยนแปลงความถี่ของคลื่นเสียงให้มีความแปลกหูออกไป บางครั้งก็ฟังดูอวกาศๆ เสียงเอฟเฟคในกลุ่มนี้ก็เช่น chorus, flanger, phaser, tremolo เป็นต้น
เอฟเฟคกีต้าร์ในกลุ่ม Dynamic
ฟังก์ชันของเอฟเฟคในกลุ่มนี้จะเน้นไปที่การคุมระดับความดังของเสียงซึ่งก็มีหลากหลายเอฟเฟคให้เลือก เช่น
- Compressor ใช้เกลี่ยวอลุ่มที่เกิดจากน้ำหนักการดีดที่ต่างกันให้มีความสม่ำเสมอ
- Boost ใช้เพิ่มวอลุ่มหรือความถี่บางช่วงให้เด่นขึ้นมา นิยมใช้เมื่อจะเล่นโซโล่ เอฟเฟคประเภทบูสต์นี้มีหลากหลายรูปแบบแล้วแต่รุ่น บ้างก็บูสท์เฉพาะวอลุ่ม คือจะไม่บิดเบือนเนื้อเสียงกีต้าร์ แต่บางรุ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเสียงไปพร้อมๆกับเพิ่มวอลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีถูกผิด แล้วแต่ความชอบ
ชนิดของเอฟเฟคกีต้าร์
โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถแบ่งชนิดของเอฟเฟคได้ 2 ชนิด คือ เอฟเฟคก้อน (stomp box effect pedal) และเอฟเฟคแบบมัลติ (multiple effect pedals)
เอฟเฟคกีต้าร์แบบก้อน
เอฟเฟคก้อน คือ เอฟเฟคสไตล์ดั้งเดิมที่มาในรูปแบบก้อนเดี่ยวๆ ส่วนใหญ่มีเสียงเอฟเฟคก้อนละหนึ่งเสียง และใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อสร้างเสียงเอฟเฟคอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าอยากได้เสียงเอฟเฟคหลายเสียง ก็ต้องหาก้อนเพิ่มหลายก้อน
มัลติเอฟเฟค
มัลติเอฟเฟค ออกแบบขึ้นโดยมีหลักการทำงานแตกต่างจากแบบก้อน เพราะใช้หลักการสร้างเสียงเอฟเฟคชนิดต่างๆ ด้วยชิปประมวลผล (digital sound processor: DSP) ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายๆกับคอมพิวเตอร์ แตกต่างกันตรงที่เป็นการประมวลผลในเรื่องของเสียง จำนวนเสียงเอฟเฟคที่สร้างจากมัลติเอฟเฟคนั้นมีมากมายหลากหลายไม่รู้จบ และยังมีระบบจำลองคาแรคเตอร์เสียงของแอมป์กีต้าร์ที่เป็นแอมป์ในฝันของมือกีต้าร์เอาไว้ เราสามารถเลือกเสียงเอฟเฟค แอมป์ เอามาจัดเรียงได้ตามต้องการ แล้วก็ save เป็น preset เอาไว้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า จุดขายหลักของเอฟเฟคประเภทนี้ก็คือ ความสะดวก นั่นเอง
เปรียบเทียบเอฟเฟคก้อนและมัลติเอฟเฟค
จุดเด่น / คุณภาพเสียง /
เสน่ห์-ความน่าสะสม /
ความยากง่ายในการใช้งาน
จุดเด่น
เอฟเฟคก้อน
- ส่วนใหญ่เอฟเฟคก้อนจะถูกสร้างขึ้นเป็นแบบ “แอนะล็อก” คือตั้งค่าอย่างไร จัดวางอย่างไร เสียงที่ได้ก็เป็นไปอย่างนั้นโดยแท้จริงตามที่สัญญาณวิ่งผ่านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นใน signal path โดยไม่มีการประมวลผล ไม่มีการจำลอง ไม่มีการสมมติ
- แต่เอฟเฟคก้อนบางรุ่นก็มีการใช้ชิปประมวลผลเพื่อสร้างเสียงบางประเภทที่มีความสมจริงหรือมีมิติของเสียงที่ซับซ้อน เช่น TC Flashback , Fender Marine Layer เป็นต้น
มัลติเอฟเฟค
- มีหลายเสียง ครบจบทุกอย่างได้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว ตั้งแต่การใช้งานเสียงเอฟเฟค เสียงจำลองแอมป์จนไปถึงมีฟังก์ชันเสริมอย่างเครื่องตั้งสายหรือ metronome ซึ่งเทคโนโลยีของมัลติก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีสินค้ารุ่นใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมออกมาอย่างสม่ำเสมอ
- สามารถเลือกเอฟเฟคและแอมป์ชนิดต่างๆ มาจัดเรียงแบบเสมือนจริงได้อย่างอิสระแล้วบันทึกเก็บไว้ได้เป็นร้อยๆ preset เมื่อจะใช้ก็เพียงเปิด preset ขึ้นมาใช้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลานั่งหมุนปุ่มกลับไปกลับมา
- สะดวก มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่าเอฟเฟคก้อน ใช้งานได้ดีในทุกสถานการณ์ไม่ว่าซ้อมที่ห้อง บันทึกเสียง จนถึงเล่นสด
- มัลติบางรุ่นสามารถ update เสียงใหม่ๆ รวมถึง firmware จากเว็บไซต์ของผู้ผลิตได้ด้วย
คุณภาพเสียง
เอฟเฟคก้อน
- เกรดของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้ ถ้าใช้ของเกรดสูง ราคาก็สูงตาม
มัลติเอฟเฟค
- ขึ้นอยู่กับระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในการประมวลผล ถ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่หรือใช้ระบบประมวลผลประสิทธิภาพสูง ก็มักจะมีราคาสูงตาม แต่เสียงที่ได้ก็จะมีความเสมือนจริง มีมิติมากขึ้นด้วย
เสน่ห์–ความน่าสะสม
เอฟเฟคก้อน
- เอฟเฟคก้อนแต่ละก้อนมีการออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่าง สามารถบ่งบอกตัวตนหรือโทนเสียงที่ผู้ใช้ชื่นชอบ รวมถึงสามารถบ่งบอกรสนิยมทางดนตรี และฐานะทางการเงินของผู้ครอบครองได้อีกด้วย
- เอฟเฟคตลาดบนที่มีความเป็น boutique หรือรุ่นปีเก่าหายาก ราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
มัลติเอฟเฟค
- เป็นสินค้าเทคโนโลยีคล้าย smart phone ที่จะถูกแทนที่ด้วยสินค้ารุ่นใหม่ภายในเวลาช่วงเวลาหนึ่ง ตาม product life cycle ที่ผู้ผลิตได้วางแผนไว้ ซึ่งมีแนวโน้มว่ามัลติเอฟเฟคจะตกรุ่นเร็วขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตกรุ่นแล้วก็เคลมไม่ได้ อะไหล่ก็หายาก ซ่อมก็ไม่คุ้มหรืออาจซ่อมไม่ได้เลย มัลติจึงเป็นของที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อเปิดตัวใหม่ๆ แต่ไม่มีเสน่ห์ในแง่ของการเก็บสะสม
ความยากง่ายในการใช้งาน
เอฟเฟคก้อน
- ส่วนใหญ่เข้าใจง่าย หมุนปุ่ม knob ไว้อย่างไรก็ได้เสียงอย่างนั้น การเรียงลำดับก้อนก็ให้เสียงตามที่เห็น ไม่ต้องใช้จินตนาการหรือดูภาพบนหน้าจอประกอบ
- ความปรับง่ายเป็นประโยชน์อย่างมากหากต้องปรับแต่งเสียงหน้างาน
- สามารถสลับตำแหน่งได้อย่างอิสระได้อย่างง่ายดายตามที่เห็น
- ถ้ามีหลายก้อน และต้องการใช้เสียงหลากหลาย อาจมีความยุ่งยากในการต้องเหยียบหลายก้อนเพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ ซึ่งแม้จะมี loop switch ช่วยจัดการในเรื่องนี้ได้บ้าง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายสูง น้ำหนักที่เพิ่ม และการสิ้นเปลืองพื้นที่วางมากขึ้น
มัลติเอฟเฟค
- อาจต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจการใช้งาน ยิ่งมัลติที่สามารถปรับค่าต่างๆได้ละเอียด ยิ่งต้องใช้เวลาศึกษาการใช้งานนานขึ้น
- ความซับซ้อนในการปรับเสียงทำให้ยากต่อการปรับแต่งในช่วงเวลาฉุกละหุก
- มัลติเอฟเฟครุ่นใหม่ๆ มักมีลูกเล่นให้ผู้ใช้สามารถจัดเรียงก้อนได้อย่างอิสระเสมือนจริงได้โดยการปรับบนหน้าจอ จึงมีความรวดเร็วและสะดวกสบาย ไม่ต้องก้มๆเงยๆดึงเข้า-ออก ดังเช่นเอฟเฟคก้อน
การเชื่อมต่อ / ความสะดวกในการพกพา / ความทนทาน-ความไว้ใจได้ (reliability)
การเชื่อมต่อ
เอฟเฟคก้อน
- ส่วนใหญ่มีความเรียบง่าย มีช่อง Input/Output อาจจะมีการเชื่อมต่ออื่นๆบ้างแต่ก็ไม่มากนัก เช่น MIDI In/Out
มัลติเอฟเฟค
- การเชื่อมต่อของมัลติเอฟเฟคถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ในปัจจุบันเป็นสำคัญ จึงมีทางเลือกในการเชื่อมต่อที่มากมาย เช่น สามารถใช้เป็น audio interface ต่อสัญญาณจากกีตาร์เข้าคอมพิวเตอร์โดยตรงเพื่อบันทึกเสียงที่มีคุณภาพสูง สามารถเชื่อมต่อด้วย Bluetooth กับ smart phone หรือ tablet เพื่อความสะดวกสบายในการปรับตั้งค่าแบบละเอียด
- สำหรับผู้ที่ใช้งานเพียงฟังก์ชันพื้นฐานของเอฟเฟค ก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อเหล่านี้
ความสะดวกในการพกพา
เอฟเฟคก้อน
- ขึ้นอยู่กับจำนวนก้อนที่ใช้ หากมีจำนวนไม่มากก็ใช้พื้นที่น้อย น้ำหนักไม่มาก แต่ถ้ามีหลายก้อนก็ไม่เหมาะกับการเคลื่อนย้าย และกลายเป็นข้อจำกัดของจำนวนเสียงสำหรับการใช้เอฟเฟคแบบก้อน กล่าวคือ ยิ่งมีมากก้อน ก็ยิ่งหนัก บอร์ดก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ สุดท้ายก็จะยิ่งขนย้ายลำบาก
มัลติเอฟเฟค
- สะดวก เพราะถูกออกแบบมาให้มีขนาดเหมาะสมและมีน้ำหนักไม่มาก
ความทนทาน–ความไว้ใจได้ (reliability)
เอฟเฟคก้อน
- โดยทั่วไป เอฟเฟคก้อนมักมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ามัลติเอฟเฟค สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานการออกแบบที่มุ่งสร้างเสียงขึ้นจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความทนทานมากกว่าชิปประมวลผล อีกทั้งเสียงจากเอฟเฟคก้อนเกิดขึ้นจากสัญญาณเดินทางไปตาม signal path โดยมักไม่ผ่านการประมวลผลโดย processor โอกาสที่ระบบจะเกิดการรวนจึงแทบไม่มี
- การชำรุดสึกหรอ เกิดขึ้นเฉพาะก้อนของใครของมัน ถ้าก้อนหนึ่งเสีย ก้อนอื่นๆ ก็ยังทำงานได้ตามปกติ
- เนื่องจากการเอฟเฟคแบบก้อนต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆหลายอย่าง เช่นสาย patch และ power supply ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในการใช้งานจากจุดอื่นๆใน signal path นอกเหนือจากตัวเอฟเฟคเอง เช่น แจ๊ค power หลวม กระแสไฟไม่พอเลี้ยงระบบ เป็นต้น
มัลติเอฟเฟค
- ความทนทานขึ้นอยู่กับการออกแบบและวัสดุที่ผู้ผลิตเลือกใช้ในมัลติแต่ละรุ่นเป็นสำคัญ ถ้ารุ่นสูงๆ ก็มักได้วัสดุที่มีความทนทาน มีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เกรดสูง มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นตามไปด้วย
- ถ้าเกิดการชำรุดในจุดใดจุดหนึ่งในวงจร มีโอกาสสูงที่ระบบทั้งหมดจะใช้การไม่ได้ เนื่องจากทุกฟังก์ชันอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน ไม่ได้แยกจากกันอิสระเหมือนเอฟเฟคก้อน
ราคามือหนึ่ง / ราคาขายต่อ /
ความสิ้นเปลืองอื่นๆ / ความคุ้มค่า
ราคามือหนึ่ง
เอฟเฟคก้อน
- ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ยี่ห้อ เกรดของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ หากพิจารณาในแง่ของจำนวนเสียงที่ได้ ก็ถือว่าราคาสูง เอฟเฟคก้อนคุณภาพสูงบางรุ่นราคาหลักหมื่นบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอสำหรับซื้อมัลติเอฟเฟคคุณภาพดี
มัลติเอฟเฟค
- มีหลากหลายราคา ตั้งแต่ไม่กี่พันจนไปถึงหลักแสนบาทซึ่งคุณภาพเสียงก็มักแปรผันไปตามระดับราคา อย่างไรก็ดี การแข่งขันของตลาดมัลติเอฟเฟคในปัจจุบันส่งผลให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมัลติเอฟเฟคคุณภาพเสียงดีในราคาหลักพันบาทให้เลือกมากมายหลายรุ่นหลายยี่ห้อ
ราคาขายต่อ
เอฟเฟคก้อน
- โดยทั่วไปมูลค่ามักลดลงตามอายุการใช้งานและสภาพ แต่ด้วยความที่อายุการใช้งานยาวนานกว่า และไม่ตกรุ่นตามเทคโนโลยี เอฟเฟคก้อนหนึ่งๆ จึงสามารถขายต่อในราคาที่เหมาะสม และถูกเปลี่ยนมืออยู่ในตลาดมือสองได้นานหลายปี
- แต่สำหรับเอฟเฟคตลาดบนที่มีความเป็น boutique หรือรุ่นปีเก่าหายาก ราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
มัลติเอฟเฟค
- แนวโน้มราคาลดลงเรื่อยๆ ไม่มีเพิ่มไม่ว่าราคามือหนึ่งจะสูงเพียงใดก็ตาม เพราะมัลติรุ่นเก่าจะถูกแทนที่ด้วยรุ่นที่ใหม่กว่าซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเสมอ
ความสิ้นเปลืองอื่นๆ
เอฟเฟคก้อน
- มีค่าใช้จ่ายสำหรับ power supply ซึ่งต้องเพิ่มจำนวนขึ้นตามปริมาณก้อนที่ใช้
- ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้เลี้ยงทั้งระบบมากตามจำนวนก้อน
- มีค่าใช้จ่ายสำหรับสาย patch cable ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างเอฟเฟคแต่ละก้อน ซึ่งต้องเพิ่มจำนวนสายขึ้นตามจำนวนก้อนที่ใช้
- อาจจำเป็นต้องซื้อตัวชดเชยสัญญาณหรือ buffer เพื่อช่วยชดเชยคุณภาพสัญญาณที่ลดลงจากการต่อเอฟเฟคจำนวนมากหรือเอฟเฟคที่ไม่มีระบบ true bypass
- อาจต้องสั่งทำเคสใส่เอฟเฟคที่มีขนาดเหมาะสมเฉพาะกับแผงเอฟเฟคของตัวเองด้วย และหากมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนก้อนในอนาคต ก็อาจต้องสั่งทำเคสใหม่อีก
มัลติเอฟเฟค
- แทบไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น power supply ค่า patch cable และค่าเคส เพราะสร้างเสียงจากการประมวลผลของ processor ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าไม่มาก มีเพียง adapter ที่แถมมากับตัวมัลติก็เพียงพอต่อการใช้งาน มัลติบางรุ่นแถม soft case มาให้ด้วย
ความคุ้มค่า
เอฟเฟคก้อน
- หากมองในแง่ของราคาต่อจำนวนเสียง เอฟเฟคแบบก้อนก็อาจดูไม่คุ้มค่า แต่อาจมีผลทางใจมากกว่า เนื่องจากผู้ใช้ได้เลือกก้อนที่เสียงตรงใจที่สุดด้วยตัวเอง
มัลติเอฟเฟค
- เมื่อพิจารณาจำนวนเสียงและลูกเล่นใหม่ๆ รวมถึงความสะดวกในการใช้งานที่สามารถจบได้ในมัลติแผงเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ากว่าซื้อเอฟเฟคก้อนหลายๆก้อน และยิ่งมัลติเอฟเฟคในปัจจุบันที่มีระบบจำลองเสียงแอมป์คุณภาพสูงให้ด้วยแล้ว ยิ่งมีความคุ้มค่ากว่าการลงทุนซื้อของจริงมาก
- หากผู้ใช้นำเอาความสามารถใหม่ๆของมัลติเอฟเฟคในยุคนี้ไปต่อยอด สร้างงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็จะยิ่งเกิดความคุ้มค่า ได้ productivity มากขึ้นไปอีก
เอฟเฟคกีต้าร์แบบไหน “ใช่” ที่สุด?
จากตารางเปรียบเทียบเอฟเฟคทั้งสองแบบ เราคงเห็นแล้วว่าแต่ละแบบก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ถ้าถามว่า แบบไหนเหมาะกับเราที่สุด? สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นหาเอฟเฟคชุดแรก สิ่งที่เราต้องพิจารณาหลักๆ มีดังนี้
- มีงบเท่าไหร่สำหรับเอฟเฟค โดยไม่รวมค่าอุปกรณ์อื่นๆ?
- เมื่อจัดอุปกรณ์ชุดนี้แล้ว เราต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าจะมีงบอีก?
- ต้องการเสียงที่ หลากหลาย แต่คุณภาพพอใช้ หรือต้องการเสียงที่ โดนใจ แต่ซื้อได้เพียงไม่กี่เสียง?
- มีแผนจะใช้ลูกเล่นต่างๆของมัลติมั้ย เช่น ต่อเข้า mix ในคอมพิวเตอร์ โหลดเสียงแอมป์กับเอฟเฟคใหม่ๆมาใช้ ทำคลิปเล่นกีต้าร์ที่เน้นคุณภาพเสียงสูงๆ ฯลฯ
- ฯลฯ
สำหรับมือใหม่หัดเรียนรู้เรื่องกีต้าร์ไฟฟ้าและเอฟเฟคที่ใฝ่ฝันอยากได้ก้อนดีๆ แต่ยังไม่มีงบเพียงพอ ควรเริ่มต้นด้วยเอฟเฟคแบบมัลติราคากลางๆก่อน แล้วใช้มันเพื่อฟังเสียงเอฟเฟคชนิดต่างๆ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวแปรสำคัญที่สุดในการเลือกเอฟเฟคคงอยู่ที่เรื่องของงบประมาณก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้างบน้อย จะหวังของดีๆ ไม่ว่าก้อนหรือมัลติ ก็คงยาก สำหรับงบประมาณที่น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่ราวๆ 10,000 – 15,000 บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับเอฟเฟคแบบมัลติประสิทธิภาพปานกลาง แต่คงยังไม่พอสำหรับการซื้อเอฟเฟคก้อนคุณภาพดีในจำนวนที่เพียงพอต่อการใช้งาน ถ้าเพิ่มงบไปถึง 20,000 – 30,000 บาทต้นๆ เราจะเริ่มมีตัวเลือกมัลติระดับคุณภาพสูงให้เลือกหลายรุ่น และในงบระดับนี้ เราจะสามารถซื้อก้อนพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อสร้างแผงเอฟเฟคคุณภาพดีแผงเล็กๆ ได้บ้างแล้ว อยากได้เสียงอะไรเพิ่มก็เก็บเงินซื้อเพิ่มเอา และสามารถขยับขยายออกไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่เราก็ต้องจ่ายเงินซื้อก้อนเพิ่มอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยเช่นกัน
มาถึงจุดนี้เราคงเห็นภาพแล้วว่า ถ้ามองในแง่ของความคุ้มค่าแล้ว อย่างไรเสียเอฟเฟคแบบมัลติก็ชนะก้อนเสมอ เพราะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความหลากหลายในการใช้งานได้ในแทบจะทุกระดับราคา ในขณะที่เอฟเฟคก้อนต้องสู้ด้วยจุดขายในเรื่องคุณภาพเสียงที่แม้จะมีแค่ก้อนละเสียงสองเสียง ก็ต้องดีพอที่จะทำให้เราอยากซื้อหามาครอบครอง
คำแนะนำที่น่าสนใจสำหรับมือใหม่หัดเรียนรู้เรื่องกีต้าร์ไฟฟ้าและเอฟเฟคที่ใฝ่ฝันอยากได้ก้อนดีๆ แต่ยังไม่มีงบเพียงพอ คือ ควรเริ่มต้นด้วยเอฟเฟคแบบมัลติราคากลางๆก่อน แล้วใช้มันเพื่อฟังเสียงเอฟเฟคชนิดต่างๆ ทดลองระบบจัดเรียงลำดับก้อนหลายๆรูปแบบ รวมถึงทดลองเสียงจำลองแอมป์รุ่นดังที่ใส่มาให้ เพื่อเก็บความรู้และสำรวจตัวเองว่าที่จริงแล้วตัวเราชอบแอมป์ประมาณไหน เอฟเฟคแบบไหน signal chain ควรเรียงลำดับอย่างไร จากนั้นเราจึงค่อยเริ่มต้นนับหนึ่งกับเอฟเฟคก้อนแท้ๆ ตามแนวทางที่ได้ศึกษามาจากเอฟเฟคแบบมัลติแผงแรก ต่อไป แต่ถ้าติดใจการใช้งานสไตล์มัลติและ อยากก้าวต่อไปบนเส้นทางดิจิทัล ก็จะได้ใช้ประสบการณ์จากมัลติแผงแรกในการเลือกซื้อมัลติแผงใหม่ รุ่นใหม่ ที่ดีกว่าเดิม ได้อย่างมั่นใจต่อไป