ในวันแรกที่เราเพิ่งมีกีต้าร์ตัวแรก (ซึ่งก็มักจะเป็นกีต้าร์โปร่งราคาไม่แพง) สิ่งที่เรามักใช้จัดเก็บจักวางกีต้าร์คงหนีมีพ้นกระเป๋าหรือเคสคู่ตัว แต่เมื่อเวลานานผ่านไปแล้วเรายังไม่เลิกเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ เราก็จะเริ่มรู้จักกีต้าร์หลากหลายแบบมากขึ้น เริ่มซื้อหาตัวที่สอง สาม สี่ ฯลฯ เข้ามาเพิ่ม และเราจะเอากีต้าร์ใส่ gig bag วางเรียงกันสามสี่ใบมันก็เริ่มดูไม่ค่อยเป็นระเบียบ เสี่ยงล้มคอหักด้วย เมื่อถึงจุดนี้ของชีวิตคนรักกีต้าร์ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาขาตั้งกีต้าร์สักอัน
แล้วจะเลือกขาตั้งกีต้าร์แบบไหน และมีอย่างอื่นต้องคำนึงถึงด้วยมั้ยนอกจากความชอบ วันนี้ผู้เขียนเลยอยากเขียนเกี่ยวกับอุปกรณ์ชิ้นนี้สักหน่อย
4 ปัจจัยในการเลือกขาตั้งกีต้าร์ให้เหมาะกับการใช้งานของคุณ
1. สถานที่วางกีต้าร์
ก่อนจะพูดถึงขาตั้งกีต้าร์ ผู้เขียนอยากให้เพื่อนๆ คิดให้รอบคอบเกี่ยวกับ “สถานที่วางกีต้าร์” ซะก่อน เพราะต่อให้ขาตั้งกีต้าร์โคตรจะแพงขนาดไหน ถ้าวางในที่ที่เสี่ยงอันตราย ก็อาจเกินวิสัยที่ขาตั้งกีต้าร์จะช่วยอะไรได้ พื้นที่สีแดงที่ไม่ควรวางกีต้าร์ก็เช่น ห้องที่มีเด็กเล็กๆ สัตว์เลี้ยงที่อาจวิ่งชน (หรือฉี่รดกีต้าร์) ที่ที่มีอุณหภูมิสูง เป็นต้น
2. ความสะดวกในการหยิบใช้
เรื่องความสะดวกนี่ กับบางคนอาจเถียงว่าเก็บกีต้าร์ใส่เคสให้หมดเพื่อการปกป้องสูงสุด จะเล่นทีนึงก็ยกเคสมาเปิดทีนึง แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่มีกีต้าร์แพงๆ กับเคสสวยๆ กลับค้นพบตัวเองว่าการวางกีต้าร์ไว้บนขาตั้งกีต้าร์ให้เห็นทุกวัน และหยิบฉวยได้ง่ายตลอดเวลานั้น ทำให้รู้สึกอยากเล่นมากกว่าใส่เคสไว้เนี้ยบๆ บางทีอารมณ์นึกอยากจะเล่นแป๊บๆ เล่นฆ่าเวลา ความสะดวกในการหยิบใช้งานมันก็ดึงดูดให้เราอยากเล่น เพราะถ้าจะเล่นแค่ช่วงรอแฟนอาบน้ำ เล่นรอเวลานัดเพื่อนที่ใกล้จะมาถึงแล้วเนี่ย การต้องก้มๆ เงยๆ ยกเคสกีต้าร์หนักๆ มาเพียงเพื่อนไล่สเกล 20 นาที ผู้เขียนมองว่าไม่ดึงดูดให้เราอยากเล่นเท่าไหร่ เสียโอกาสสร้างความผูกพันกับกีต้าร์ไปอีกหลายโมเมนท์ น่าเสียดายนะ
3. จำนวนกีต้าร์
ถ้าเรามี หรือแพลนว่าจะมีกีต้าร์จำนวนไม่มากแค่สองสามตัว การซื้อแสนต์ที่วางแยกอันละตัวจะดูเหมาะสมกว่าซื้อแบบเป็นแร็คที่วางหลายๆตัว เพราะขาตั้งกีต้าร์เดี่ยวไม่เปลืองพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายที่ได้โดยง่าย แต่หากจำนวนกีต้าร์มีมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป ผู้เขียนแนะนำให้หาสแตนด์แบบแร็ค (Multi guitar stand) มาใช้ จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่า จะเอาแร็คยาว 5 ตัว 7 ตัว หรือซื้อ 2 แร็ควางต่อกันก็ดูเท่ แต่บางคนเป็นนักสะสมตัวยง มีกีต้าร์เกินโหลก็คงไม่ลำบากนักถ้าจะจัดห้องสักห้องในบ้านเป็นห้องเล่นกีต้าร์พร้อมจัดวางกีต้าร์ด้วยวิธีแขวนผนังแบบเดียวกับในร้านขายไปเลย หยิบง่าย โชว์ได้ ปลอดภัยหมาไม่ฉี่รด ที่สำคัญ เลิศหรูอลังการ
4. ความปลอดภัยต่อกีต้าร์
ขาตั้งกีต้าร์โนเนมราคาถูกอาจใช้วัสดุที่ไม่ปลอดภัยต่อกีต้าร์ เช่น ใช้โฟมเกรดต่ำที่ไวต่อความร้อนหรือวัสดุจำพวกฉนวนหุ้มท่อคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศซึ่งมีการเสื่อมสภาพได้เองในเวลาไม่กี่ปี โฟมเกรดต่ำเหล่านี้อาจละลายติดสีกีต้าร์ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถเช็ดได้ สร้างความเสียหายต่อกีต้าร์สุดรัก กลายเป็นเสียน้อยเสียยากโดยใช่เหตุ ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้ใส่ใจเรื่องเกรดของขาตั้งกีต้าร์ และพยายามเลือกใช้ของดีหรือยี่ห้อที่ผู้ผลิตมีความน่าเชื่อถือไว้ก่อน จ่ายมากหน่อยแต่อย่าลืมว่ามันก็จ่ายแค่ครั้งเดียวใช้ยาวๆ ดังนั้นเน้นความปลอดภัยเข้าไว้ สบายใจกว่า อย่างแบรนด์ On Stage ที่ผู้เขียนอยากแนะนำวันนี้ ก็เป็นแบรนด์ที่มีการเลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัยต่อกีต้าร์มาใช้ตรงจุดที่สัมผัสกับกีต้าร์ แถมราคาไม่สูงมากด้วย
ขาตั้งกีต้าร์ประเภทต่างๆ
A-stand
ขาตั้งกีต้าร์ทรง A น่าจะเป็นขาตั้งกีต้าร์ที่หาได้ง่ายที่สุดตามร้านขายเครื่องดนตรีทั่วไป เนื่องจากมันมีราคาไม่แพง ใช้งานง่าย ขนาดเล็ก และเหมาะกับผู้เริ่มต้นมีกีต้าร์ตัวแรกหรือมีจำนวนไม่มาก นอกจากนี้ก็ยังมีแบบที่พับได้เพื่อความสะดวกในการพกพาไปตั้งบน stage ได้ด้วย
ผู้เขียนแนะนำว่า สำหรับขาตั้งกีต้าร์แบบนี้ ถ้าเพื่อนๆ ไม่ได้พกพาออกไปข้างนอกบ่อยหรือไม่ได้ต้องการความเบาหวิวอะไรมากมาย ควรซื้อแบบเป็นโครงเหล็กจะดีกว่า เพราะมีความทนทานมากกว่า และลุคของเหล็กก็ดูดีกว่าพลาสติกด้วย นอกจากนี้อีกสิ่งที่ควรสังเกตก่อนซื้อก็คือ ความกว้างของขารองก้นกีต้าร์ เพราะขาตั้งกีต้าร์ทรง A บางตัวออกแบบมาเฉพาะกีต้าร์เฉพาะบางประเภท เช่นถ้าเป็นสำหรับกีต้าร์ไฟฟ้าขารองก็จะสั้น ทำให้เราไม่สามารถวางกีต้าร์โปร่งบนขาตั้งกีต้าร์ที่ออกแบบมาสำหรับกีต้าร์ไฟฟ้าโดยเฉพาะได้ ดังนั้นควรเช็คดีๆก่อนว่าขาตั้งกีต้าร์ทรง A ที่เราจะซื้อนั้น รองรับการใช้งานของเราหรือไม่
ขาตั้งกีต้าร์สามขา (Tripod guitar stand)
ขาตั้งกีต้าร์แบบนี้ลักษณะการวางกีต้าร์ก็คล้ายหับแสตนด์ทรง A แต่ยกตัวกีต้าร์ไว้เหนือพื้น มีขาตั้งสามขา และมีเสาพยุงคอกีต้าร์เอาไว้ ขาตั้งกีต้าร์แบบนี้ช่วยให้กีต้าร์ดูสง่ากว่าแบบ A แต่ด้วยความที่มันจัดวางแบบเดียวกับทรง A จึงใช้พื้นที่การวางพอสมควร และเหมาะกับการวางกีต้าร์จำนวนไม่มาก
Multiple stand (แร็ควางกีต้าร์)
ถ้าเพื่อนๆ มีสิ่งที่เรียกว่ากีต้าร์อยู่ในชีวิตมานานพอจนเริ่มมีมันในครอบครองสองสามตัวและมีแนวโน้มจะเพิ่มอีกในอนาคต ขาตั้งกีต้าร์แบบ multiple หรือที่เรานิยมเรียกกันว่าแร็ควางกีต้าร์นั้น ถือเป็นตัวเลือกที่ดีมาก เนื่องจากมันสามารถจับเอากีต้าร์จำนวนตั้งแต่ 3 – 7 ตัว มาวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบและไม่กินพื้นที่ใช้สอยในบ้านมากเกินจำเป็น จะหยิบกีต้าร์ออกมาใช้ก็ง่าย แถมดูเท่กว่าขาตั้งกีต้าร์ทรง A เพราะกีต้าร์เนี่ย ยิ่งมีเยอะ ยิ่งเท่ และการเห็นมันวางเรียงกันเป็นแถว 5 ตัว 7 ตัว 10 ตัวรวดนี่ ต้องมีเองกับตัวถึงจะเข้าใจความรู้สึก อิอิ
แสตนด์กีต้าร์แบบแขวน (Hanging stand)
ขาตั้งกีต้าร์แบบนี้ออกแบบมาเพื่อให้มีจุดสัมผัส (contact point) ระหว่างตัวแสตนด์กับกีต้าร์ให้น้อยที่สุด คือจัดวางคล้ายๆกับการแขวนกีต้าร์บนผนัง เพียงแต่เอาลงมาตั้งบนพื้น นอกจากนี้ก็ยังดูเป็นกึ่งๆ การตั้งโชว์ ทำให้ได้ลุคที่ดูแพง แต่ข้อเสียของแสตนด์แบบนี้ก็คือวางได้น้อย กินพื้นที่ และต้องระมัดระวังเรื่องความสมดุลในการวาง
ส่งท้าย
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ไม่มากก็น้อยนะ แต่ไม่ว่าจะเลือกขาตั้งกีต้าร์แบบใด ขอให้อย่าลืมเรื่องคุณภาพและความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ เพราะกีต้าร์ของเรามูลค่าสูงกว่าขาตั้งกีต้าร์เยอะ ใช้ของดีๆไปเลยสบายใจกว่า